‘คนส่วนใหญ่เข้างานเช้าแค่ไหน เลิกงานกันกี่โมง และมีเวลาไปทำกิจกรรมอื่นมากน้อยแค่ไหน’
‘เมืองใหญ่มีพื้นที่ให้กับกิจกรรมแบบไหน มีเพียงพื้นที่ทำงาน หรือมีพื้นที่หลากหลายให้คนได้พักผ่อนหย่อนใจ’
‘คนสูงวัยใน 4 เมืองใหญ่ใช้ชีวิตกันอย่างไร กระจายตัวทั่วเมืองหรือไม่ หรือกระจุกตัวอยู่ในย่านที่คุ้นเคย’
นี่คือตัวอย่างของคำถามที่นำไปสู่การค้นหาและเปิดโลกเรื่องเมืองในโปรเจกต์ชื่อว่า ‘Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น’ ที่มีหมุดหมายในการศึกษาชีวิตผู้คนและเมืองที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ด้วยข้อมูลระดับ Big Data โดยมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เรียกได้ว่าโปรเจกต์นี้มีความแปลกใหม่และน่าสนใจ 3 แง่มุม คือ
หนึ่ง เป็นครั้งแรกในไทยที่ใช้ Mobility Data หรือ ชุดข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชากรจากโทรศัพท์มือถือ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ทำความเข้าใจจังหวะชีวิตของเมืองและผู้คนใน 4 เมืองใหญ่ ใน 4 ภูมิภาคของไทย คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา-หาดใหญ่
สอง เป็นการใช้ข้อมูลจากภาคธุรกิจ Telco-Tech ในเชิงการพัฒนาเมือง โดยทรูเป็นผู้จัดการข้อมูล และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสู่แนวทางการพัฒนาเมืองที่ดีขึ้น
สาม เปิดกว้างให้ประชาชน ผู้กำหนดนโยบาย และผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมสำรวจ ศึกษา ทำความเข้าใจผ่านการนำเสนอข้อมูลบนเว็บไซต์ที่เล่าเรื่องให้ง่าย และเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนมุมมองรอบด้าน เพื่อต่อยอดความคิดและสร้างการเปลี่ยนแปลงทุกระดับ
ชวนทำความรู้จักโปรเจกต์นี้ให้มากขึ้นผ่านมุมมองของ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าคณะทำงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและเชื่อมโยงกับบริบทเมืองของโปรเจกต์ ที่พร้อมเล่าเบื้องลึกเบื้องหลังการทำงาน ไปจนถึงการสร้างแนวทางพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรต่อทุกคน
เมืองมีพลวัต ไม่เคยหยุดนิ่ง การศึกษาเมืองจึงต้องอาศัยข้อมูลที่ทันต่อความเปลี่ยนแปลง
“เมืองไม่ได้เป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างที่อยู่คงที่ตลอดไป แต่เมืองมีพลวัต มีบริบทที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับโครงสร้างกายภาพ โดยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” อดิศักดิ์เกริ่นถึงธรรมชาติของเมือง
ในฐานะของนักวิทยาศาสตร์สารสนเทศข้อมูลเมือง ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘คนเล่นแร่แปรธาตุข้อมูลเชิงพื้นที่’ อดิศักดิ์เชื่อว่าข้อมูลเชิงลึกคือสิ่งที่ทำให้เข้าใจเมืองได้ลึกซึ้งรอบด้าน โดยความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลเมืองนี้ถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ Urban Design and Development Center (UddC) ที่เขาทำงานอยู่ องค์กรแห่งนี้มีความเชี่ยวชาญด้านเมืองรอบด้าน โดยมีผลงานการพัฒนาเมืองหลายโครงการ อาทิ โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี โครงการสะพานพระปกเกล้า สกายปาร์ค พร้อมกับการเล่าเรื่องเมืองในประเด็นต่างๆ บนเว็บไซต์ The Urbanis
อดิศักดิ์เล่าว่า ในอดีต การศึกษาเมืองอาศัยข้อมูลแบบดั้งเดิม เช่น สถิติสำรวจ (Census) แบบสอบถาม หรือการสังเกตการณ์ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านปริมาณและความแม่นยำ โดยอาจเปรียบได้เป็น ‘ภาพนิ่ง’ ในอดีตที่ตามไม่ทันบริบทของเมืองในศตวรรษที่มีความวุ่นวายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“ข้อมูลสำมะโนประชากรที่อัปเดตทุก 10 ปี หรือข้อมูลอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลาในการสำรวจรวบรวมนานหลายเดือน หรือบางทีอาจใช้เวลาเป็นปี ซึ่งอาจล้าสมัยแล้วเมื่อถึงเวลานำมาใช้ ส่วนการเก็บข้อมูลภาคสนาม เช่น แบบสอบถาม ต้องใช้เวลาหลายเดือน หากต้องการข้อมูลเพิ่มก็ต้องเริ่มเก็บใหม่ ทำให้เสียเวลานานและอาจไม่สะท้อนสภาพจริงของผู้คนและเมือง”
ปัจจุบัน เครื่องมือสำคัญในการติดตามเรื่องราวเมืองที่ซับซ้อนคลุมเครือและเข้าใจได้ยาก คือ Mobility Data ซึ่งเป็นข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชากรที่เก็บจากโทรศัพท์มือถือ “ข้อมูลนี้ทำให้มองเห็นการเคลื่อนที่เดินทาง และการกระจายตัวและกระจุกตัวของประชากรเป็นจำนวนมากในแต่ละพื้นที่และช่วงเวลาอย่างเรียลไทม์ โดยสามารถนำมาเทียบกับข้อมูลทางภูมิศาสตร์และทางกายภาพ เพื่อสะท้อนสภาพของเมืองได้แม่นยำยิ่งขึ้น” อดิศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม การใช้ Mobility Data ต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ซึ่งอดิศักดิ์อธิบายชัดเจนว่า “ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษามีการปกปิดตัวตน หรือที่เรียกว่าเป็นข้อมูลนิรนาม (anonymous data) และสะท้อนออกมาเป็นหน่วยวิเคราะห์เป็นกริด (grid) ที่เป็นข้อมูลสรุปสัดส่วน ไม่สามารถระบุถึงตัวบุคคลได้ การบริหารจัดการเมืองต้องการเพียงข้อมูลในระดับ Mass หรือผลสรุปภาพใหญ่เท่านั้น ที่สำคัญคือเป็นจรรยาบรรณของการใช้ข้อมูลในวิชาชีพด้วย”
โปรเจกต์ Dynamic Cities via Mobility Data ทำให้เห็นภาพใหญ่ของหลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น
การวิเคราะห์ Mobile Data และ Mobility Data จากโทรศัพท์มือถือ คือแกนหลักสำคัญในการศึกษาของโปรเจกต์ ‘Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น’ โดย ทรู เป็นผู้จัดการข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้งานได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตามนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เข้มงวด และอยู่ภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล
ในด้านคุณูปการของ Mobility Data ที่นำมาใช้ในการทำความเข้าใจและพัฒนาชีวิตของผู้คนและเมือง สรุปได้ดังนี้
Real Behavioral Insights เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์สะท้อนพฤติกรรมผู้คนในเมือง ที่เกิดจากการตัดสินใจจริง ลดอคติและข้อผิดพลาด และช่วยให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการใช้พื้นที่ในแต่ละช่วงเวลา
Accurate & Real-Time Data มีความแม่นยำสูงและอัปเดตต่อเนื่องแบบเรียลไทม์ สามารถติดตามสภาพการใช้งานเมืองในช่วงเวลาต่างๆ ได้ทันที
Ready-to-Use for Urban Planning นำไปใช้วางแผนและออกแบบเมืองได้โดยตรง โดยไม่ต้องเสียเวลาแปลงข้อมูลหรือคาดการณ์จากสถิติย้อนหลัง
Faster & Broader Data Collection เก็บข้อมูลจากประชากรจำนวนมากได้ต่อเนื่องและครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้เห็นภาพรวมของเมืองในระดับมหภาค และเลือกใช้ข้อมูลตามประเด็นที่ต้องการศึกษาได้
“การที่ได้ข้อมูล Mobility Data จากฝั่งโทรคมนาคมมาใช้ในถือว่าเป็นมิติใหม่ โดยเป็นการขับเคลื่อนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ออกมาจากโลกธุรกิจสู่การพัฒนาเมือง และนับเป็นโปรเจกต์นำร่อง ที่จะสร้างแรงกระเพื่อมให้การใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายด้าน ตั้งแต่การบริหารจัดการเมือง ไปจนถึงการรับมือกับสาธารณภัยและภัยพิบัติ รองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและคาดการณ์วางแผนทุกความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ”
รู้จักเมืองให้ลึกขึ้น ต้องรู้จักพื้นที่ เวลา และพฤติกรรมแต่ละช่วงวัย
เพียงข้อมูลที่ได้มายังไม่เพียงพอต่อการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ จึงต้องอาศัยกรอบแนวคิดด้านเมืองมาตีความให้ข้อมูลเชิงลึกมีมิติที่น่าสนใจ เรียกว่าการศึกษาแนวนี้เป็นความเชี่ยวชาญของ UddC โดยอดิศักดิ์ได้อธิบายถึงกรอบการศึกษาที่สรุปได้เป็น 3 มิติ ดังนี้
มิติพื้นที่เมือง เป็นการค้นหาพื้นที่หลักในการใช้ชีวิตของคนเมือง โดยแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ ที่อยู่/นอน (Live) ที่ทำงาน/เรียน (Work) ในบางบริบทหมายถึงพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมือง และที่กิน/เที่ยว (Visit) ที่สะท้อนกิจกรรมเมือง 3 แบบคือ สร้างสรรค์ เคลื่อนที่ และบริโภค
มิติเวลา วิเคราะห์ว่า เวลาใน 24 ชั่วโมง ผู้คนที่ใช้พื้นที่เมืองทำกิจกรรมต่างๆ อย่างไร โดยมีตัวล็อคเป็นรหัส 8:8:8 ที่สะท้อนความสมดุล
มิติพฤติกรรมคนเมือง เป็นการเข้าใจพฤติกรรมของคนเมืองแต่ละช่วงวัย ค้นหาว่า วัยเรียน วัยทำงาน และวัยเกษียณ ใช้ชีวิตอย่างไรในเมือง
“เมื่อใช้กรอบแนวคิดเหล่านี้มาวิเคราะห์ร่วมกันทำให้เห็นผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับปัญหาของคนที่อยู่ในเมือง เช่น พฤติกรรมการทำงานใน 4 เมืองหลักที่แตกต่างกัน โดยการทำงาน 8-10 ชั่วโมงเป็นเรื่องปกติของคนกรุงเทพฯ ช่วงเวลา 1 ทุ่มหรือ 2 ทุ่มยังอยู่ที่ทำงานหรือในละแวกนั้น เมื่อเชื่อมโยงกับข้อมูลด้านอื่นอาจอธิบายได้ว่า คนยังไม่อยากกลับบ้านเพราะรถติด หรือบ้านไกลก็แวะกินข้าวก่อน ขณะที่ในอีก 3 เมืองภูมิภาคช่วง 5 โมงเย็นได้กลับบ้าน ได้มีเวลาหลังเลิกงานไปใช้ชีวิตแบบอื่นแล้ว” อดิศักดิ์ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจ
ข้อมูลเชิงลึกจากโปรเจกต์ สู่การสร้างนโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์ชีวิตผู้คนและเมือง
“สำหรับนักออกแบบวางผังเมือง ข้อมูลเหล่านี้นำมาใช้ต่อยอดเพื่อเสนอแนวทาง หรือกำหนดนโยบายได้แม่นยำยิ่งขึ้น” อดิศักดิ์กล่าว พร้อมยกตัวอย่างข้อมูลเชิงลึกจากโปรเจกต์ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะได้
“ในการศึกษาจะเห็นช่วงเวลาที่คนกรุงเทพฯ เข้างานมากที่สุดคือ 10 โมงเช้า ในขณะที่เชียงใหม่ ขอนแก่นอยู่ที่ 8 โมง เมื่อนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกับข้อมูลการเดินทาง ก็เข้าใจได้ว่าคนกรุงเทพฯ เดินทางไปทำงานไกลกว่า และอาจเสียเวลารถติดหรือเลี่ยงการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งก็นำไปแนวคิดการสร้างย่านละแวกหรือนโยบาย ‘เมือง 15 นาที’ ที่ช่วยให้ผู้คนได้ทำงาน หรือมีบริการที่จำเป็นในย่านละแวกบ้าน ลดเวลาการเดินทางเพื่อนำไปใช้ชีวิตที่ต้องการได้
“อีกตัวอย่างคือมิติด้านวัย ที่พบว่าผู้สูงอายุใช้ชีวิตกระจุกตัวอยู่ละแวกบ้านของตัวเอง ไม่ได้ออกมาในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ซึ่งสัมพันธ์กับสภาพแวดล้มที่ไม่เอื้อต่อการเดินทาง เช่น ถนน ทางเท้าที่ไม่เป็นมิตรกับการใช้ชีวิตของทุกช่วงวัย เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ซึ่งก็เป็นโจทย์เชิงนโยบายเรื่อง ‘เมืองเดินได้’ (Walkable City) ที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขยายพื้นที่สาธารณะให้ผู้สูงวัยออกจากบ้านมาใช้ชีวิตในเมืองได้สะดวก ปลอดภัย และน่าเดิน” อดิศักดิ์อธิบาย
เมืองคือเรื่องของทุกคน
เมื่อเมืองเป็นเรื่องของทุกคน โปรเจกต์ Dynamic Cities via Mobility Data จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการจุดประเด็นและส่งต่อความคิดโดยเปิดให้ประชาชนคนทั่วไปได้เข้ามาสำรวจศึกษาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ที่มีรูปแบบ Visualization เข้าใจง่าย เพียงกดเข้าเว็บไซต์ก็จะมี Quiz ให้ทุกคนได้ลองเล่น เพื่อเข้าใจชีวิตของตัวเอง ก่อนสำรวจภาพใหญ่ของเมือง
สุดท้ายนี้ เราลองตั้งคำถามว่า ‘แท้จริงแล้ว เราออกแบบเมือง หรือเมืองออกแบบชีวิตเรา’
“คำถามนี้ยังไม่มีข้อสรุป เหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน” อดิศักดิ์ตอบ “แต่ตามหลักการแล้ว เมืองและผู้คนมีอิทธิพลต่อกัน เช่น ถ้าออกแบบเมืองที่มีทางเท้ามากกว่าถนน โครงสร้างกายภาพนี้จะตีกรอบให้ผู้คนเดินมากขึ้น ในทางกลับกัน พฤติกรรมของคนสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเมืองได้ เช่น ถ้าคนชอบไปห้างสรรพสินค้าจนเกิดดีมานด์ทางการตลาด ธุรกิจก็ตอบสนองด้วยการสร้างห้างเพิ่มเรื่อยๆ แต่ถ้าคนต้องการพื้นที่ออกกำลังกาย เมืองก็ถูกบังคับให้ปรับตาม
“แม้ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ยืนยันได้ว่า ทั้งสองส่วนนี้มีผลซึ่งกันและกัน เมืองกำหนดชีวิตเราได้ และเราก็สามารถออกแบบเมืองที่เราอยากอยู่ได้เช่นกัน” อดิศักดิ์ทิ้งท้าย
ชมคลิป ‘เมืองออกแบบเรา หรือ เราออกแบบเมือง’ ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=9GvK-GcUgNE
สำรวจข้อมูลการศึกษาในโปรเจกต์ ‘Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น’ ได้ที่เว็บไซต์ https://www.true.th/blog/data-playground/dynamic-cities/
และร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่คอมมูนิตี้แห่งความร่วมมือขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูลสู่อนาคตที่ดีสำหรับทุกคน (Data Playground for Human Impacts) www.facebook.com/groups/dataplayground/