ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล และคอนเทนต์ไหลผ่านสายตาผู้คนวันละหลายพันชิ้น สิ่งไหนจะทำให้ใครสักคน หยุดอ่าน คิด และลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง
สำหรับ อรอุมา วัฒนะสุข หัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เชื่อว่าสิ่งนั้นคือ ดาต้า ที่เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย เชื่อมโยงกับชีวิต เข้าถึงใจผู้คน บอกเล่าความจริงที่เคยถูกมองข้าม และจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง
นี่คือจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่กลายเป็นหัวใจสำคัญของ Data Playground for Human Impacts พื้นที่การทำงานร่วมที่ทรูร่วมออกแบบขึ้นให้เป็น “สนามทดลอง” ชวนภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ได้เข้ามามีบทบาทร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชากรผ่านการใช้งานโทรศัพท์มือถือ (Mobility Data) และข้อมูลการใช้งานแพลตฟอร์มบริการดิจิทัล ภายใต้มาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
เป้าหมายคือ การใช้ดาต้าเปิดมุมมองที่แตกต่างในการทำความเข้าใจปัญหา เพื่อจุดประกายให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การออกแบบนโยบายหรือวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
‘Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น’ คือหนึ่งในโปรเจกต์ของสนามทดลองนี้ ที่ใช้ Mobility Data เล่าเรื่องของจังหวะชีวิตของผู้คน 4 เมืองใหญ่ใน 4 ภูมิภาคของไทย และทำให้ “เมือง” ไม่ใช่เรื่องเฉพาะสำหรับผู้เชี่ยวชาญ แต่กลายเป็นประเด็นร่วมของทุกคนที่อยากเห็นเมืองที่ดีขึ้น
นี่คือเรื่องราวเบื้องหลังของแนวคิด และการร่วมแรงร่วมใจของทีมงานจากหลากหลายความเชี่ยวชาญ ที่ทำให้เกิดโปรเจกต์ที่ใช้ Mobility Data ให้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการพัฒนาเมือง
Data-Driven Collaboration ความร่วมมือที่ขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล
“โปรเจกต์นี้ไม่ได้เริ่มต้นจากคำว่า ‘เมือง’ แต่มาจากคำถามที่ว่า เราจะใช้ Mobility Data เป็นทรัพยากรสำคัญในมือของ Telco Tech มาสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับชีวิตผู้คนและสังคมได้อย่างไร” อรอุมาเกริ่นถึงที่มา โดยเธอเชื่อว่า หาก Mobility Data เคยมีบทบาทในโลกธุรกิจได้ ก็ย่อมสามารถถูกนำมาเล่าเรื่องในระดับเมืองและสังคมได้เช่นกัน
จากแนวคิดนี้จึงเกิดเป็นโปรเจกต์ ‘Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น’ ที่เป็นการร่วมมือระหว่าง ทรู ที่มี Mobility Data พร้อมความเชี่ยวชาญในด้านข้อมูลจากฝั่ง True Digital Group ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเมืองรอบด้านที่เข้าใจบริบทเชิงพื้นที่ และทีม Punch Up ที่เก่งในด้านถ่ายทอดข้อมูลผ่าน Visualization และ Storytelling ทั้งหมดถูกร้อยเรียงในรูปแบบเว็บไซต์ที่เปิดให้คนได้เข้าไปสำรวจข้อมูลได้ง่าย
ทีมวิเคราะห์ดาต้าที่ได้เห็นเมืองด้วยมุมใหม่
เบื้องหลังการจัดการข้อมูล Mobility ก่อนส่งต่อให้ UddC วิเคราะห์ คือทีม Data Platform ภายใต้หน่วยงาน Connected Industry Solution หรือ CIS ของ True Digital Group ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจากเครือข่ายโทรคมนาคม โดยนำ Telco Data จากระบบโครงข่ายของทรูมาประมวลผลภายใต้มาตรฐานด้านความปลอดภัยสูงสุดและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) อย่างเคร่งครัด และให้บริการข้อมูลเชิงลึกแก่กลุ่มธุรกิจหลากหลาย เช่น ธนาคาร อีคอมเมิร์ซ ประกันภัย โลจิสติกส์ ไปจนถึงฟินเทค ช่วยให้องค์กรเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ
“จุดเด่นของ CIS คือการเข้าถึงข้อมูลจากโครงข่าย ผสานกับ Ecosystem ครบวงจรของทรู ทำให้สามารถต่อยอดการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ใช้งานได้อย่างรอบด้าน และแปลงเป็นอินไซต์ที่แม่นยำและลึกกว่าผู้เล่นรายอื่นในตลาด” ธนชาติ พัวพันธ์ ผู้จัดการโปรเจกต์ในฝั่งวิเคราะห์ข้อมูล Mobility กล่าว
โปรเจกต์นี้พาพวกเขาก้าวข้ามไปสู่ขอบเขตงานใหม่ที่ออกนอกจากฝั่งธุรกิจ โดยมี เมธิส คงรักเกียรติยศ และ เอกชัย พนมทิพย์ ทำหน้าที่เป็น Data Insights รับผิดชอบในการรวบรวม ประมวลผล และส่งมอบข้อมูลอย่างแม่นยำ การร่วมมือกับ UddC กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้ทั้งคู่ได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเมืองเป็นครั้งแรก
“ความพิเศษของโปรเจกต์นี้คือการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และแบ่งเป็นชุดข้อมูลหลายส่วน รวมถึงเน้นในเรื่อง Geolocation Data ซึ่งเป็นความต้องการข้อมูลในแบบที่ UddC จะนำไปวิเคราะห์ต่อ ทำให้เราได้มองเห็นข้อมูลในสเกลใหม่ ที่มีความท้าทายมากขึ้น” เมธิส เล่าถึงการทำงาน
การแลกเปลี่ยนความเห็นในกระบวนการทำงานจากการประชุมงานต่อเนื่องหลายเดือน ทำให้ทีมดาต้าได้เห็นการแปลงข้อมูลผ่านการ Visualize และได้เห็นว่าข้อมูลของพวกเขาสามารถ “เล่าเรื่องของเมือง” ได้จริง
“ตอนเห็นข้อมูลแปลงเป็นแผนที่และอินโฟกราฟิก เรารู้สึกเลยว่า ข้อมูลที่เราเคยเห็นเป็นแค่ตัวเลข กลับเล่าเรื่องของคนและเมืองได้จริง ทำให้มองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ที่ Telco Data ใช้ตอบโจทย์ได้ เห็นมุมมองใหม่ๆ ที่เป็นการเปิดโลกให้เรามาต่อยอดในงานของเราได้เช่นกัน” เอกชัย กล่าว
การสื่อสารเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม
“การสื่อสารที่ดีไม่ควรหยุดอยู่แค่การสร้างการตระหนักรู้ แต่ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้” อรอุมา หัวเรือใหญ่ของฝั่งการสื่อสารกล่าว ด้วยแนวคิดนี้ การสื่อสารของโปรเจกต์จึงออกแบบให้ครอบคลุมหลายมิติ ประกอบด้วย
- Visualized Data Storytelling นำเสนอข้อมูลผ่านเว็บไซต์ ด้วยภาพและเรื่องเล่าที่เข้าใจง่าย ดึงดูดสายตา และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน
- Spark Dialogue via Forum เปิดเวทีพูดคุยและตั้งคำถามร่วมกันในรูปแบบของ Forum เพื่อให้ข้อมูลกลายเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนา
- Engaged People as Stakeholders of the City สร้างแคมเปญสื่อสารบนโซเชียลมีเดียที่เชื่อมโยงชีวิตประจำวันของผู้คนกับข้อมูลเมือง จุดประกายให้เห็นบทบาทของตัวเองในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการออกแบบเมืองได้
เบื้องหลังการขับเคลื่อนให้เกิดการสื่อสารที่ครบถ้วนทุกมิติคือ ทีมสื่อสารองค์กรของทรู ที่เป็นทีมงานใหญ่หลายชีวิตหลากความเชี่ยวชาญ โดยมี นฤทธิ์ ชุมวิกรานต์ เป็นผู้จัดการโปรเจกต์หลัก รับหน้าที่ดูแลงานภาพรวม ตั้งแต่เว็บไซต์ไปจนถึง Forum ให้เกิดขึ้นจริง และ ภัควลัญชณ์ โชติพิชชานันช์ หัวหน้าทีมเว็บไซต์ที่ดูแลทั้งด้านเทคนิคและทำงานในส่วนของเนื้อหาร่วมกับทีม Punch Up อย่างใกล้ชิด
หลังจากงานเปิดตัวโปรเจกต์ในวันที่ 27 มีนาคม 2568 ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค ฝั่งเวสต์ ทีมงานยังเดินหน้าสื่อสารอย่างต่อเนื่องผ่านแคมเปญบนโซเชียลมีเดีย ที่ออกแบบให้มีความหลากหลาย ทั้ง ผลการศึกษาที่ปรับให้เป็นอินโฟกราฟิกแบบเคลื่อนไหว บทความเล่าเรื่อง ชุดภาพถ่าย โพสต์ชวนให้คนมีส่วนร่วม คลิปวิดีโอทั้งในรูปแบบสารคดี และ Vlog ทั้งหมดนี้เพื่อส่งต่อเรื่องเมืองให้เข้าถึงคนทั่วไปในวงกว้าง
ในมุมมองของหัวเรือใหญ่ด้านการสื่อสารองค์กร อรอุมาเรียกโปรเจกต์นี้ว่าเป็น “จุดเริ่มต้น” เพราะศักยภาพของ Mobility Data ยังมีความเป็นไปได้อีกมากมาย
“แม้ว่าในแง่การประยุกต์ใช้งานด้านสังคม ประเทศไทยอาจเริ่มช้ากว่าหลายประเทศ แต่การริเริ่มในวันนี้ ก็คือ การจุดประกายที่สำคัญ ที่นำไปสู่แนวทางใหม่ในการสื่อสารข้อมูลเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง และเราก็ได้เห็นผลตอบรับที่ดี โดยยังมีอีกหลายโปรเจกต์ที่กำลังรอการต่อยอดต่อไป” อรอุมา ทิ้งท้าย
_____
สำรวจข้อมูลการศึกษาในโปรเจกต์ ‘Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น’ ได้ที่เว็บไซต์ https://www.true.th/blog/data-playground/dynamic-cities/
และร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่คอมมูนิตี้แห่งความร่วมมือขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูลสู่อนาคตที่ดีสำหรับทุกคน (Data Playground for Human Impacts) www.facebook.com/groups/dataplayground/