6 มุมมองว่าด้วยเรื่องเมือง ข้อมูล และวิถีชีวิต พร้อมข้อเสนอในการออกแบบเมืองที่เข้าใจผู้คน จากงานเปิดตัวโปรเจกต์ ‘Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น’

28 เมษายน 2568


‘คนสร้างเมือง หรือ เมืองสร้างคน’ คือคำถามสำคัญจากงานเปิดตัวโปรเจกต์ ‘Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น’ ครั้งแรกในไทยที่นำชุดข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชากรจากโทรศัพท์มือถือ (Mobility Data) มาถอดรหัสไลฟ์สไตล์ 4 เมืองใหญ่ใน 4 ภูมิภาคของไทย พร้อมต่อยอดสู่ข้อเสนอในการออกแบบเมืองที่เข้าใจทุกจังหวะชีวิต

งานนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ณ ทรูดิจิทัล พาร์ค ฝั่งเวสต์ โดยมีสื่อมวลชน นักออกแบบเมือง และผู้ขับเคลื่อนเรื่องเมืองเข้าร่วม ภายในงานมีกิจกรรมที่ชวนสำรวจชีวิตและเมือง เริ่มจาก Quiz ในเว็บไซต์ของโปรเจกต์เพื่อสำรวจไลฟ์สไตล์ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลกับโลกจริงผ่านนิทรรศการภาพถ่ายใน 4 เมืองใหญ่ ไปจนถึงเวทีเสวนาที่เปิดมุมมองหลากหลายจากผู้เชี่ยวชาญตัวจริงเรื่องดาต้าและเมือง

บทความนี้เป็นการบันทึกหัวใจสำคัญของ 6 มุมมองของ 6 ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาที่ร่วมเวทีครั้งนี้ เพื่อส่งต่อแนวคิดสำคัญ ซึ่งผู้อ่านอาจนำไปต่อยอด สร้างแรงบันดาลใจ หรือใช้ประโยชน์ได้จริง

 

“ข้อมูลเคลื่อน เมืองเปลี่ยน” เปิดโลก Mobility Data ว่าจะช่วยขับเคลื่อนสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองได้อย่างไร

โดย จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

Chakkrit Urairat

ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาเมืองมักวนอยู่กับวิธีการและข้อมูลชุดเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถติด น้ำท่วม หรือความเหลื่อมล้ำ ทำให้ผลลัพธ์ไม่ต่างจากเดิมนัก จักรกฤษณ์มองว่า Mobility Data คือกุญแจดอกใหม่ในการวางแผนเมืองที่ตอบโจทย์ชีวิตคนจริง ๆเพราะข้อมูล Mobility ซึ่งมาจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือในเวลาจริง ช่วยให้เห็นจังหวะชีวิตของผู้คนได้ละเอียดขึ้น ไม่ใช่แค่รู้ว่าใครอยู่ที่ไหน แต่เข้าใจว่าเขาเดินทางจากไหนไปไหน เวลาใด อยู่ในพื้นที่แออัดหรือไม่ และมีทางเลือกอื่นหรือเปล่า

ข้อมูลเหล่านี้ได้รับการประมวลผลในรูปแบบที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และเมื่อวิเคราะห์ต่อยอดอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยออกแบบเมืองให้เหมาะกับวิถีชีวิตคนทุกกลุ่มได้จริง ด้วยเหตุนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นจึงริเริ่ม Data Playground พื้นที่ความร่วมมือเพื่อเปิดมุมมองใหม่ในการใช้ข้อมูล โดยชวนภาครัฐ ภาคการศึกษา นักวิจัย และประชาชน มาร่วมกันใช้ประโยชน์จาก Mobility Data ไปสู่การพัฒนาสังคมที่เข้าใจผู้คนทุกกลุ่ม และขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

‘คนสร้างเมือง หรือ เมืองสร้างคน’ อ่านจังหวะของเมืองใหญ่ 4 แห่ง ผ่านการใช้ชีวิตของผู้คนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

โดย อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมืองเป็นเรื่องของผู้คน

Adisak Kantamueanglee

เพราะพลวัตรของเมืองอยู่ที่ผู้คนที่มีการปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่เมืองตลอดเวลา ข้อมูล Mobility และข้อมูล Cellular จึงสามารถนำมา ‘อ่าน’ ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองได้ลึกกว่าที่เคยเป็นมา โปรเจกต์ ‘Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น’ ชวนมอง 4 เมืองใหญ่คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา-หาดใหญ่ ผ่านการวิเคราะห์ “จังหวะชีวิต” ของคนเมือง โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น

คนในกรุงเทพมหานคร มีเวลาทำงานเฉลี่ยสูงถึง 8.9 ชั่วโมงต่อวัน แต่มีเวลายืดหยุ่นสำหรับทำกิจกรรมอื่นๆ เพียง 4.5 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่เชียงใหม่และขอนแก่นมีเวลายืดหยุ่นมากถึง 6.3 – 6.4 ชั่วโมงต่อวัน

หากพื้นที่ Live และ Work อยู่ใกล้กัน เช่น ย่านพระโขนง รามคำแหง ลาดพร้าว หรือบางกะปิ มีแนวโน้มจะลดเวลาการเดินทางและสร้างสมดุลชีวิตได้ดีขึ้น

ข้อมูลยังสะท้อนการกระจุกตัวตามช่วงวัย เช่น วัยเรียนอยู่ใกล้สถานศึกษา ขณะที่ First Jobbers อยู่ย่านที่มีที่อยู่อาศัยเข้าถึงง่าย ส่วนผู้สูงอายุอยู่เมืองเก่าหรือชานเมืองที่คุ้นเคย

พบ 12 ย่านในกรุงเทพฯ ที่เอื้อการใช้ชีวิตร่วมกันทุกช่วงวัยเข้าด้วยกันได้ เช่น ลาดพร้าว บางซื่อ ปิ่นเกล้า อ่อนนุช วงเวียนใหญ่ ห้วยขวาง เป็นต้น

แต่ละเมืองมีโอกาสพัฒนาในแบบเฉพาะ

ในช่วงท้าย อดิศักดิ์ เชื่อมโยงข้อมูลจากการศึกษาสู่แนวทางการออกแบบเมืองที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละเมือง ดังนี้

กรุงเทพฯ: ยกระดับ “ย่านเส้นเลือดฝอย” ให้ที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้กับที่ทำงาน และปรับปรุงโครงสร้างเมืองให้เดินได้ เดินดี

ขอนแก่น: พัฒนา “บึง” เป็นศูนย์กลางกิจกรรมของเมือง เชื่อมโยงเศรษฐกิจ ชุมชน และสุขภาวะ

เชียงใหม่: พัฒนาแนวคิด “อู่วัฒนธรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” โดยใช้วัดเป็นพื้นที่กลางที่เชื่อมโยงจิตวิญญาณ วัฒนธรรม และกิจกรรมสร้างรายได้

สงขลา-หาดใหญ่: พัฒนาย่านสร้างสรรค์และตลาดแรงงานใหม่ เพื่อดึง First Jobbers กลับมาอยู่และทำงานในเมืองตัวเอง

“ทำไป ให้ใครอยู่” วงเสวนาโดยตัวจริงเรื่องเมือง ที่ยังมี “หวัง” และร่วมผลักดันให้เมืองขยับสู่การเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อทุกคน

“ทำไป ให้ใครอยู่” คำถามเหล่านี้คือหัวใจของวงเสวนาในงานเปิดตัวโปรเจกต์ Dynamic Cities via Mobility Data ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ทำงานเรื่องเมืองจากอีก 3 ภูมิภาคมาร่วมสนทนา ในฐานะของพลเมืองและนักขับเคลื่อนเมืองที่ยังมีหวัง

แทนศร พรปัญญาภัทร Startup ด้านการพัฒนาเมืองขอนแก่น กรรมการสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ชี้ว่าข้อมูล Mobility เปลี่ยนวิธีวางนโยบายเมืองให้แม่นยำมากขึ้น จากเดิมที่อาศัยจากการลงพื้นที่พูดคุยและการคาดการณ์ของนักพัฒนาเมือง พร้อมหยิบยกกรณีของขอนแก่น เมืองที่ได้รับฉายาว่า “นครริมบึง” แม้จะมีบึงกระจายทั่วเมือง ซึ่งรอบบึงเหล่านั้นก็น่าจะเป็นสวนสาธารณะ แต่ข้อมูลกลับชี้ให้เห็นว่า พื้นที่สีเขียวต่อประชากรยังต่ำกว่ามาตรฐาน และยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง บึงจึงควรถูกพัฒนาเป็นสวนสาธารณะที่ตอบโจทย์ชีวิตคนอย่างแท้จริง

ในอนาคต เขาเชื่อว่า เมืองจะไม่เป็นศูนย์กลางแบบเดิมอีกต่อไป แต่ทุกเมืองจะมีความโดดเด่นเฉพาะ และทุกย่านสามารถเป็นศูนย์กลางของบางสิ่งได้ เช่น Center ด้านไอเดีย ด้านธุรกิจ หรือการใช้ชีวิต

Anawit Jitmana

อณวิทย์ จิตรมานะ นักพัฒนาและนักสื่อสารเรื่องเมือง Co-founder City Connext และ Hatyai Connext มองว่าข้อมูล Mobility ช่วยให้การสื่อสารเรื่องเมืองเข้าถึงผู้คนได้ลึกขึ้นในระดับ “ย่าน” โดยเฉพาะการออกแบบกิจกรรมหรือคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์กลุ่มเยาวชนมหาวิทยาลัย รวมถึงสามารถกำหนดเป้าหมายยิงโฆษณาหรือแคมเปญได้แม่นยำยิ่งขึ้น

ในมุมของเมือง หาดใหญ่เติบโตจากรถไฟและการค้าชายแดน จึงมีความวุ่นวายเป็นธรรมชาติของเมือง ขณะเดียวกันศาลเจ้าคือพื้นที่สาธารณะที่ทำหน้าที่เป็น “โหนดทางวัฒนธรรม” เชื่อมความเป็นเมืองเก่าและเมืองใหม่เข้าด้วยกัน สำหรับอนาคต เขาเชื่อในพลังของการเชื่อมโยง โดยเชื่อมต่อคนรุ่นใหม่กับรุ่นก่อน เชื่อมต่อผู้มีส่วนร่วมหลายกลุ่ม และส่งต่อการสื่อสารให้กลายเป็นพลังของเมืองอย่างต่อเนื่อง

Chiranthanin Kitika

รศ. ดร.จิรันธนิน กิติกา นักวิจัยเพื่อขับเคลื่อนชุมชนเมือง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า เมืองคือผลผลิตของผู้คน และข้อมูลคือกระจกสะท้อนชีวิตในเมือง พร้อมเสนอให้มองข้อมูล Mobility เป็น “3 มิติ” เพราะเมืองหนึ่งอาจมีความหมายเปลี่ยนไปตามเวลา พื้นที่ และผู้ใช้งาน เช่น วัดอาจเป็นสถานที่สงบตอนเช้า และเป็นพื้นที่ Transit ของวัยรุ่นตอนเย็น นอกจากนี้เชียงใหม่มี “วัฒนธรรมหลายชุด” เช่น คนท้องถิ่นเก่าที่ผูกกับวัด คนชั้นกลางใหม่ที่ใช้ชีวิตในบ้านจัดสรร และกลุ่ม digital nomads ในขณะที่วัดเป็น cultural hub สำคัญ แต่ไม่ใช่แห่งเดียว คาเฟ่ โคเวิร์กกิ้งสเปซ หรือพื้นที่สร้างสรรค์อื่นๆ ก็ทำหน้าที่นี้ได้เช่นกัน

เขาเสนอว่า ในอนาคตเมืองต้องการ 3 สิ่งร่วมกัน คือ Collaboration เมืองเป็นของทุกคน Transformation แปลงข้อมูลให้เข้าใจและใช้ประโยชน์ได้จริง และ Integration ออกแบบเมืองแบบสหสาขาวิชา ไม่แยกส่วนเหมือนอดีต

 

“เมืองที่ดี จากเสียงของผู้คน” การพัฒนาเมืองจากวิถีชีวิตจริง ข้อมูลจริง เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

โดย รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ในยุคที่เมืองขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและข้อมูล ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครได้หยิบยกคำว่า “Empathy” ขึ้นมาเป็นคีเวิร์ดสำคัญของการออกแบบนโยบายเมือง เพราะข้อมูลดิจิทัลเป็น “Sympathy Data” ที่สะท้อนปัญหาจากภายนอก เช่น รู้ว่าถนนสายหนึ่งรถติด หรือพื้นที่ไหนน้ำท่วม แต่ไม่ได้เข้าใจ “ความรู้สึก” หรือ “ชีวิตจริง” ของผู้คนในพื้นที่เหล่านั้น ตรงกันข้าม “Empathy Data” คือข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ รับฟัง และสัมผัสปัญหาด้วยตนเอง เพื่อนำไปสู่การวางแผนจัดการที่ตรงจุดและเข้าอกเข้าใจ

Traffy Fondue คือกระบอกเสียงของเมือง

“What is the city but the people?” (แท้จริงแล้วหัวใจของเมืองคือผู้คน) คือคำกล่าวของวิลเลียม เชกสเปียร์ที่ รศ.ดร.ชัชชาติ ยกขึ้นมาเมื่อพูดถึง Traffy Fondue แพลตฟอร์มที่เปิดให้ประชาชนรายงานปัญหาเมืองได้ด้วยตนเองผ่านสมาร์ตโฟน โดยเสียงของประชาชนจะถูกส่งตรงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบอัตโนมัติ ไม่ต้องผ่านลำดับชั้นหรืออาศัยเส้นสาย

วันแรกที่เปิดใช้งาน (1 มิ.ย. 2565) มีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากถึง 20,000 เรื่อง จนถึงปัจจุบัน มีการแจ้งปัญหาสะสมกว่า 870,381 เรื่อง และแก้ไขสำเร็จแล้วกว่า 705,000 เรื่อง ลดระยะเวลาในการแก้ปัญหาจากเฉลี่ย 2 เดือน เหลือเพียง 2 วัน

เมืองที่ดีคือเมืองที่ ฟังประชาชน + ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ

นอกจากการฟังเสียงอย่างมีระบบ กรุงเทพมหานครยังใช้ข้อมูล Mobility มาวางแผนแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การปรับสัญญาณไฟจราจร 72 จุดให้สอดคล้องกับการไหลของรถ การพัฒนาระบบจักรยานเช่า (Last Mile) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า และการเริ่มออกแบบโครงข่ายถนนแบบ “Corridor” ที่เน้นการระบายรถตามเส้นทางหลักมากกว่าการควบคุมแบบแยกส่วน

พร้อมกันนี้ยังผลักดันให้ใช้ Open Data อย่างจริงจัง โดยเปิดเผยข้อมูลโครงการและงบประมาณในรูปแบบ machine-readable มีระบบติดตามความคืบหน้า และเปิดให้ประเมินคุณภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างเมืองที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นของทุกคนอย่างแท้จริง

ทุกมุมมองจากงานเปิดตัวโปรเจก ‘Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น’ สะท้อนว่าข้อมูลคือเครื่องมือที่สามารถนำไปสู่การสร้างเมืองที่เข้าใจผู้คนได้ และ “เมืองที่ดี” ย่อมเกิดจากการร่วมมือ รับฟัง และใช้ข้อมูลอย่างมีความหมาย เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นในเมืองของตนเอง
_____
สำรวจข้อมูลการศึกษาในโปรเจกต์ ‘Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น’ ได้ที่เว็บไซต์ https://www.true.th/blog/data-playground/dynamic-cities/

และร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่คอมมูนิตี้แห่งความร่วมมือขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูลสู่อนาคตที่ดีสำหรับทุกคน (Data Playground for Human Impacts) www.facebook.com/groups/dataplayground/