‘Unwritten Fairytales’ นิทรรศการศิลปะที่ 16 ศิลปินนานาชาติ ถ่ายทอดเทพนิยายในแบบฉบับของตนเอง และชวนให้ผู้ชมเชื่อมโยงเรื่องราวตามจินตนาการ

09 เมษายน 2568


‘Unwritten Fairytales’ หรือ เทพนิยายที่ยังไม่มีใครเล่าขาน คือคอนเซ็ปต์ของนิทรรศการศิลปะที่เปิดกว้างให้ 16 ศิลปินนานาชาติถ่ายทอดผลงานผ่านแนวคิด เทคนิค และสไตล์ของตัวเองอย่างแท้จริง เมื่อก้าวเข้ามาสู่นิทรรศการ ผู้ชมจะได้ดื่มด่ำกับผลงานที่หลากหลายทั้งในแง่เนื้อหาและมุมมอง พร้อมสนุกไปกับการตีความและเชื่อมโยงเรื่องราวไปตามจินตนาการได้อย่างอิสระ

นิทรรศการครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของ One Small Gallery และ Madskills ที่คัดรรผลงานจากศิลปินชื่อดังและศิลปินหน้าใหม่จากทุกมุมโลก ได้แก่ Adam Handler, Bel Fullana, Cheese Arnon, Erik Foss, Flog, Jinnbooroom, Jun Makita, Jittirobot, Jingyi Wang, NeNe, Noritoshi Mitsuuchi, Stefany Zefanya, Super Future Kid, Tade, Willem Hoeffnagel, and Young Lee

‘Unwritten Fairytales’ จัดแสดงที่ TDPK Studio 2 ในพื้นที่แห่งใหม่บนชั้น 3 ทรู ดิจิทัลพาร์ค ฝั่งเวสต์ ใกล้กับ TK Park ซึ่งเรียกว่าเป็นโซนความสร้างสรรค์ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน “ทรู ดิจิทัล พาร์คยังคงสนับสนุนพื้นที่สำหรับจัดแสดงงานศิลปะ โดยอยากให้เป็นห้องทดลองของไอเดียที่หลากหลาย เราเห็นคุณค่าของพื้นที่แห่งนี้ ที่ศิลปินรุ่นใหม่ที่เคยจัดแสดงกับเราก็ไปได้ไกล และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายคน” ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ ผู้จัดการทั่วไป ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าว

และนี่คือไฮไลต์จาก 3 ศิลปินและผลงานของพวกเขา ที่อยากให้ทุกคนมาเติมเต็มจินตนาการร่วมกันในนิทรรศการครั้งนี้

Pinocchio said “…being an artist is very easy.”
ความย้อนแย้งระหว่างภาพลักษณ์และความเป็นจริง โดย Jittirobot

Pinocchio said “…being an artist is very easy.” คือผลงานจิตรกรรมเทคนิคผสมของ Jittirobot ที่เปิดเผยความรู้สึกภายในของศิลปิน ที่มักถูกเข้าใจผิดว่าอาชีพนี้ “ทำงานง่าย” และ “ชีวิตสบาย” เขาเลือกใช้ พินอคคิโอ เป็นตัวแทนของความย้อนแย้งระหว่าง “ภาพลวงตา” กับ “ความจริง” เพราะทุกครั้งที่ศิลปินยอมรับความเข้าใจผิดนั้นโดยไม่อธิบาย พินอคคิโอก็จมูกยาวขึ้น

“คนมองจากภายนอกอาจรู้สึกว่า ศิลปินนั่งวาดรูปง่ายๆ ไม่เครียด แต่ความเป็นจริงเต็มไปด้วยแรงกดดัน ความท้าทายที่สะสมอยู่ภายในเรามากมาย เช่นเดียวกับทุกอาชีพที่ล้วนมีความยากในแบบของตัวเอง แต่เมื่อมีคนพูดแบบนั้น เราก็ไม่ได้อธิบาย แค่ยอมรับ และไขลานตัวเอง เพื่อขับเคลื่อนกลไกแห่งการสร้างสรรค์ยังคงหมุนต่อไป”

ในผลงานชิ้นนี้ ยังปรากฏ Roller Bot คาแรกเตอร์ประจำของ Jittirobot ซึ่งเปรียบเสมือนอีกเสียงภายในจิตใจ ที่คอยตั้งคำถามกับตัวตน ความรู้สึก การดำเนินชีวิต และผลักดันให้ศิลปินยังคงสร้างสรรค์ผลงานต่อไป

 

 

 

 

 

Top of the Game และ Better Together

ความหลงใหลบนเส้นทางที่ไม่ชัดเจนของ Cheese Arnon

Cheese Arnon เริ่มต้นจากศิลปะกราฟฟิตี้ ก่อนเข้าสู่เส้นทางศิลปะร่วมสมัยด้วยตัวเอง ผ่านการศึกษาค้นคว้า และลองผิดลองถูกจากประสบการณ์จริง เขาตีความคำว่า Fairytale เป็นเป้าหมาย และความหลงใหล ที่ยังไม่เห็นปลายทางชัดเจน

“ผมไม่ได้เรียนจิตรกรรมมาโดยตรง เริ่มจากงานกราฟิตี้ที่คนจำนวนไม่น้อยมองเป็นศิลปะด้านลบ การเข้าสู่เส้นทางไฟน์อาร์ตที่ไม่ง่าย ผมต้องเรียนรู้ ลองผิดลองถูก และหาเส้นทางของตัวเอง งานของผมถ้ามองใกล้ๆ จะเห็นถึงลายเส้นฝีแปรงที่ไม่เรียบร้อย เป็นแนว Abstract ที่ซ่อนอยู่ข้างใน”

ในนิทรรศการนี้เขานำเสนอ 2 ผลงาน คือ Top of the Game ภาพคาแรกเตอร์ที่คล้ายมีปีกผีเสื้อ ที่รายล้อมด้วยทิวทัศน์สวยงาม แต่ไม่อาจรู้ได้ว่าอยู่จุดไหนของเส้นทาง และ Better Together ที่สื่อถึงการยอมรับเส้นทางที่แตกต่าง ไม่ว่าเป็นกราฟฟิตี้หรือไฟน์อาร์ต สุดท้ายแล้วก็คือศิลปะที่มีเส้นทางของตัวเอง

 

Brave Eleven ศิลปะจากศัตรูภายในใจ
โดย Stefany Zefanya

Stephany Zefanya ศิลปินทัศนศิลป์จากอินโดนีเซีย ถ่ายทอดประสบการณ์ในชีวิตประจำวันผ่านวัตถุเปรียบเปรยด้วยเทคนิคสีน้ำและสื่อผสม ผลงานของเธอสะท้อนอารมณ์หลากหลาย ตั้งแต่ความสุข ความพอใจ ความรักแบบไม่มีเงื่อนไข ความว่างเปล่า ไปจนถึงการตำหนิตัวเอง และความหวังที่ยังทำให้ก้าวต่อไป

ผลงาน Brave Eleven ที่มีสีสันสดใสเปี่ยมชีวิตชีวา เบื้องหลังคือการสำรวจ “ศัตรูภายในใจ” ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือ ตัวเราเอง
“ฉันหวังว่าผลงานนี้จะผู้ชมย้อนกลับไปคิดถึงบางอย่างที่เคยลืมไป เป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนให้เราเห็นตัวเองอีกครั้ง บางทีเราอาจต้องกลับไปเอาชนะอีโก้ของตัวเอง เพื่อจะได้พบกับตัวตนที่แท้จริงของเราอีกครั้งหนึ่ง”
_____

นิทรรศการ ‘Unwritten Fairytales’ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 มีนาคม – 20 เมษายน 2568 ณ TDPK Studio 2 ชั้น 3 ทรู ดิจิทัล พาร์ค ฝั่งเวสต์ (BTS ปุณณวิถี) เปิดให้เข้าชมนิทรรศการทุกวัน เวลา 11.00 – 19.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.truedigitalpark.com