รู้หรือไม่! เบื้องหลังความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติในทุกวันนี้ ทั้งการแตะพื้นดวงจันทร์ของนีลอาร์มสตรอง รวมถึงคอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันทุกวันนี้ ล้วนมี “ผู้หญิง” อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น
จากอดีตถึงปัจจุบัน ผู้หญิงได้พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเธอสามารถเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็นซีอีโอบริษัทผลิตชิปการ์ดยักษ์ใหญ่ AMD และซีอีโอ CANVA สตาร์ตอัพที่เข้ามาดิสรัปต์อาร์ตเทค เช่นเดียวกับ “ฐิติรัตน์ ศิริพัฒนาเลิศ” หัวหน้าสายงานด้านความปลอดภัยระบบสารสนเทศของ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป และในโอกาสวันสตรีสากล 2568 True Blog ได้มีโอกาสพูดคุยกับเธอถึง เส้นทางชีวิตกว่าจะเป็นผู้นำ (หญิง) สายเทค
เธอ: ผู้หญิงสายเทคท่ามกลางอุปสรรค
ฐิติรัตน์ เล่าว่า เธอเป็นคนชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากครอบครัวที่มีคุณพ่อและคุณลุงทำงานอยู่ในแวดวงวิศวกรรม โดยเฉพาะคุณลุง รศ.ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ ท่านถือเป็นบุคคลสำคัญในแวดวงวิศวกรรม นั่งแท่นตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเจ้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีคุณูปการต่อการอย่างยิ่งยวดต่อการวางพื้นฐานโครงสร้างของประเทศ
“ทั้งคุณพ่อและคุณลุง เรียกได้ว่าเป็น Role Model ตั้งแต่เด็ก เราจะเห็นคุณลุงออกรายการทีวีตลอดเวลา เพื่ออธิบายข้อดีข้อเสียของโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมแต่ละประเภท ในสมัยที่เรายังตั้งไข่วางแผนว่าจะใช้ระบบใดก่อนหลังบ้าง เรียกได้ว่าเป็น key figure คนหนึ่งของไทยที่ได้วางรากฐานทางวิศวกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ ทั้งที่จับต้องได้อย่างรถไฟฟ้าในวันนี้ และทางในความคิด อย่างการบุกเบิก สจล. ลาดกระบัง ภาพที่เราเห็นท่านในทีวี มันได้สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งให้ได้ ‘ฝัน’ ว่า สักวัน เราอยากทำให้ได้สักครึ่งหนึ่งของท่านก็ยังดี”
ด้วยแรงบันดาลใจดังกล่าว เธอจึงมุ่งมั่นจนสามารถได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ สจล.ลาดกระบัง แม้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่ฐิติรัตน์ก็ไม่ได้รู้สึกแปลกแยก แตกต่าง หรือด้อยศักยภาพกว่าผู้อื่นเลย เธอกลับมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในศักยภาพของตัวเอง ไม่หวั่นต่อความท้าทายทางเพศสภาพ และค่านิยมดั้งเดิมของสังคมในอดีต ถึงแม้ว่ามันจะไม่ง่ายเลยสำหรับผู้หญิงสายเทคในยุคบุกเบิก
เธอผู้บุกเบิก cybersecurity ในไทย
หลังจากพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถทางการเรียนรู้ของผู้หญิง ฐิติรัตน์ได้เข้าทำงานที่ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ในสมัยนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับ คนในวงการสื่อสารไอทีโลกเริ่มตระหนักถึงภัยคุมคามทางไซเบอร์ที่เริ่มเกิดขึ้นและอาจกลายเป็นความท้าทายหลักของอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา
เธอได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ในสาขาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (MIS) ที่ University of Illinois at Chicago สหรัฐอเมริกา ซึ่งสอดรับกับความสนใจของเธอที่มองว่า cybersecurity เป็นศาสตร์ใหม่ ที่บูรณาการองค์ความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์มาประกอบกัน ครอบคลุมการบริหารจัดการ กฎหมาย ธุรกิจ ต้องอาศัยความเข้าใจรอบด้านแบบองค์รวม ซึ่งแตกต่างจากวิศวกรรมศาสตร์ที่มีวิทยาศาสตร์ประยุกต์และทักษะทางเทคโนโลยีเป็นพื้นฐาน จึงเรียกได้ว่า เธอเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกสายงาน cybersecurity ในประเทศไทย ในยุคนั้น เธอเป็น 1 ใน 30 ผู้ที่ผ่านการทดสอบ CISSP ของไทย โดย CISSP เป็นใบรับรองความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก ถือเป็นหนึ่งในการทดสอบที่เรียกได้ว่า “หิน” ที่สุดของสายงาน ทั้งความท้าทายเชิงปริมาณและแรงกดดันด้านเวลา
ในยุคที่ธุรกรรมทางการเงินเปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบบัตร เธอเห็นความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น ย้ายข้ามฟากมาสู่ธุรกิจการเงิน โดยเธอมีบทบาทสำคัญต่อการวางโครงสร้างพื้นฐานด้าน cybersecurity ให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ จากนั้น เธอได้รับการทาบทามให้ไปทำหน้าที่ดูแลงานด้าน cybersecurity ให้กับ AXA บริษัทประกันสัญชาติฝรั่งเศส ในตำแหน่ง Regional Director ของภูมิภาคเอเชีย ทำหน้าที่วางระบบ cybersecurity ให้กับประเทศต่างๆ บริษัทประกอบกิจการในเอเชีย พร้อมควบตำแหน่งหัวหน้าสายงานด้านความมั่นคงทางสารสนเทศของ กรุงไทย-แอ๊กซา ในไทย
“การก้าวเข้ามาในวงการ cybersecurity สมัยนั้น ในความเป็นผู้หญิงท่ามกลางเพื่อนร่วมงานชายเกือบทั้งหมด มันก็ทำให้เกิดแรงกดดันทางความรู้สึก ต้องใช้ความพยายามที่มากกว่า และยิ่งการเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ แถมเป็นเอเชียอีก ก็อาจทำให้เกิดข้อกังขาในช่วงแรก ซึ่งเราต้องแสดงศักยภาพให้เพื่อนร่วมงานเห็น สร้างการยอมรับ ให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ จะเห็นได้ว่า การเป็นผู้หญิงในสายงานที่แวดล้อมด้วยผู้ชาย (male-dominated field) มันยากนะ และยิ่งขึ้นเป็นผู้นำ ยิ่งยากขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่เรื่องเพศสภาวะไม่เป็นอุปสรรคในการทำงาน” ฐิติรัตน์ เปิดใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศในการประกอบอาชีพ
เธอกับการบาลานซ์บทบาทแม่-ผู้นำ
แต่กระนั้น ทัศนคติทางลบต่อผู้หญิงเหล่านั้นก็ไม่อาจฉุดรั้ง “ฝัน” และความพยายามของหญิงแกร่งคนนี้ได้ ในทางกลับกัน เธอใช้มันเป็นแรงผลักดันสู่ความสำเร็จ และกลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต
นอกจากความท้าทายเชิงทัศนคติที่ผู้หญิงต้องเผชิญแล้ว “ความเป็นแม่” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของผู้หญิงที่มีต่อความก้าวหน้าในอาชีพ รายงาน Global Gender Gap Report 2024 รายงานว่า จากจำนวนแรงงานแบ่งตามอุตสาหกรรม “ภาคเทคโนโลยี” มีสัดส่วนแรงงานที่เป็นผู้หญิงอยู่อันดับท้ายๆ เช่นเดียวกับสัดส่วนแรงงานหญิงที่อยู่ในระดับบริหาร โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาระของความเป็นแม่ อย่างไรก็ตาม ฐิติรัตน์ในฐานะคุณแม่ลูกสองก็สามารถผ่านช่วงเวลาที่ล้ำค่าดังกล่าวมาได้ ซึ่งต้องยกเครดิตให้กับ 3 สิ่งนี้
1) สิทธิลาคลอดและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับแม่ในที่ทำงาน สวัสดิการดังกล่าวถือเป็นการจัดการโครงสร้างผ่านนโยบายสาธารณะเพื่อผู้หญิงที่เป็นแม่ ช่วงเดือนแรกถือเป็นระยะวิกฤตที่แม่ต้องเผชิญและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ยังไม่รวมถึงการดูแลลูกที่ต้องให้สารอาหารผ่านน้ำนมทุก 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ การเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างห้องปั๊มนมและตู้แช่ ก็ถือเป็นปัจจัยด้านสุขอนามัยที่องค์กรไม่ควรมองข้าม
2) Support system สามีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ช่วยภาระหน้าที่ของผู้เป็นแม่อย่างมีนัยสำคัญ ในแง่การดูแล จัดหาอาหาร การเดินทางรับส่ง โดยเฉพาะ 6 ปีแรก ที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก จึงต้องการการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด และการช่วยแบ่งเบาภาระความเป็นแม่ของสามี ทำให้เธอสามารถบาลานซ์ทั้ง 2 บทบาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3) ศักยภาพในตัวเอง ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ทำให้ผู้หญิงเป็นทั้งแม่และคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมกัน นั่นคือ การเตรียมความพร้อม ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังคลอดลูก ทั้งเรื่องงานและการเป็นแม่ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้น เรื่อง Life coach for working mom จึงเป็นอีกสิ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเพศได้
“ตอนตั้งท้องน้องคนแรก สถานการณ์ที่พี่เจอเหมือนกับเพลง ‘ค่าน้ำนม’ เลย มันเจ็บมาก รวมถึงเวลาส่วนตัวอย่างเวลาแปรงฟันยังแทบไม่มีเลย แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ผ่านมาได้ด้วยความรัก ความช่วยเหลือของสามี รวมถึงสวัสดิการขององค์กร” ฐิติรัตน์ กล่าวและว่า “แม้ความเป็นแม่จะหนักและเหนื่อย แต่ถ้ามองย้อนกลับไป มันคือช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นกำลังใจในการทำงานต่อไป”
เธอผู้สืบสานการวางรากฐาน
ด้วยประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งในระดับภูมิภาคและประเทศ ฐิติรัตน์ มองว่า cybersecurity คือรากฐานที่สำคัญอย่างมากในโลกยุคดิจิทัล ไม่ว่าองค์การขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็ต่างมีความต้องการบริการด้านนี้ เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ TDG เชื้อเชิญให้มาบุกเบิกธุรกิจ cybersecurity บริการให้คำปรึกษาและโซลูชั่นครบวงจร ที่จะเข้ามาต่อยอดบริการด้านโทรคมนาคมให้กับทรูคอร์ป ฐิติรัตน์จึงตกปากรับคำแบบไม่ลังเลเลยทีเดียว
“การเข้ามาร่วมงานภายใต้ชายคา TDG เป็นอีกก้าวที่จะทำให้ฝันของพี่เป็นจริง ฝันที่จะได้นำความรู้ประสบการณ์ตอบแทนแผ่นดินเกิดผ่านการวางรากฐานเหมือนที่คุณลุงพี่ได้ทำไว้ การได้ช่วยทุกคนทุกหน่วยงานไม่ว่าจะ SMEs หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ให้เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างปลอดภัยและมั่นคง ทัดเทียมนานาประเทศ เพราะ cybersecurity เป็นอีกหนึ่งมาตรฐานที่องค์กรระดับโลกใช้เป็นเครื่องชี้วัดว่าจะคบค้าสมาคมด้วยหรือไม่ หากคุณไม่มีระบบ cybersecurity ที่ได้ตามที่ยอมรับกันทั่วโลก คุณก็จะเสียโอกาสในการเปิดประตูสู่เวทีโลก”
นอกเหนือจากนี้ เมื่อพิจารณาจากตลาดแรงงาน อุตสาหกรรมเทคยังคงมีช่องว่างทางเพศอยู่หลายประการ ตั้งแต่ด้านการศึกษา การเข้าทำงาน และสัดส่วนผู้หญิงในระดับบริหาร โดยประเทศไทยมีผู้หญิงจบการศึกษาด้าน STEM คิดเป็นสัดส่วน 30% เท่านั้น ซึ่งฐิติรัตน์มองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อเนื้องาน การขาด Role Model ที่สร้างแรงบันใจ
“จริงๆ แล้ว cybersecurity ต้องการทักษะเชิงเทคนิคเป็นพื้นฐานเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นที่จะก้าวเป็นผู้นำได้ คือ การนำหลักการและแนวปฏิบัติด้าน cybersecurity ไปอยู่ในแต่ละกระบวนการขององค์กร ซึ่งต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจ ความละเอียดอ่อน ซึ่งผู้หญิงทำได้และทำได้ดี” ฐิติรัตน์อธิบาย ด้วยเหตุนี้ เธอจึงใช้ทุกโอกาสที่มีในการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง น้องๆ เยาวชน โดยเฉพาะผู้หญิงผ่านโครงการ Women Thailand Cyber Top Talent ซึ่ง 3 สิ่งสำคัญที่เธอบอกกับน้องๆ เสมอ ได้แก่
1) ทุกความฝันสามารถเป็นจริงได้ หากน้องๆ มีความเชื่อมั่นและลงมือทำอย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้ข้อจำกัดมาหยุดยั้ง
2) ความสำเร็จไม่ได้มาง่ายๆ น้องๆ ต้องมีความมุ่งมั่น อดทน และพยายามอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
3) ทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญ และด้วยทัศนคติเชิงบวกนี่เอง จะขยายมุมมองน้องๆ ให้เห็นโอกาสและเอาชนะอุปสรรคได้
“ในฐานะผู้หญิง เราอาจมีบทบาทหลายด้าน ทั้งในฐานะคนทำงานมืออาชีพ หรือในฐานะแม่ที่ต้องดูแลลูกๆ พี่ขอใช้พื้นที่นี้ชื่นชมผู้หญิงทุกคนที่มีความมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ และสามารถทำหน้าที่ทั้งสองอย่างไปพร้อมกันได้ คุณกำลังทำสิ่งที่น่าทึ่งจริงๆ ที่สำคัญ ทุกอย่างเป็นไปได้ หากเราไม่ปล่อยให้ตัวเองจำกัดความคิดความฝัน เปลี่ยนอุปสรรคจากความเป็นผู้หญิงให้เป็นจุดแข็ง ใส่ความพยายามให้เต็มที่ แล้ววันหนึ่ง ปลายทางแห่งความฝันจะกลายเป็นจริง พี่ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้หญิงทุกคนที่กำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะก้าวเดินบนเส้นทางของตัวเองค่ะ” หญิงแกร่งแห่ง True Digital Group กล่าวทิ้งท้าย